องค์การจะมีกำหนดพันธกิจหรือภารกิจ (Mission) ขององค์การ ซึ่งถ้าเป็นในภาครัฐมักนิยมเรียกว่าพันธกิจ โดยพันธกิจถือได้ว่าเป็นการกำหนดภาระรับผิดชอบอย่างเป็นทางการขององค์การที่แสดงถึงภาระรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ (accountability for results) ที่องค์การจะต้องดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่องค์การได้กำหนดขึ้น
พันธกิจจะเป็นข้อความที่แสดงถึงเป้าประสงค์ขององค์การโดยที่องค์การจะนำเป้าหมายหลักขององค์การและปรัชญาขององค์การมาเขียนเป็นพันธกิจขององค์การ โดยที่พันธกิจจะเป็นการพรรณาถึงเหตุผลของการมีอยู่ขององค์การ หรือที่เรียกว่า the firms raison detre ด้วยเหตุนี้ ทุกองค์การล้วนมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดพันธกิจไว้ด้วยเสมอ แต่ถ้าองค์การใดที่มีการนำระบบการบริหารเชิงยุทธศาสตร์มาใช้ ก็จะมีการกำหนดและทบทวนพันธกิจขององค์การให้สนับสนุนต่อวิสัยทัศน์ที่องค์การได้กำหนดไว้ด้วย
พันธกิจที่องค์การได้กำหนดขึ้นมานั้นกล่าวได้ว่าอาจจะเป็นภาระรับผิดชอบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น กรมสรรพากร มีพันธกิจ คือ จัดเก็บรายได้ภาษีเงินได้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นพันธกิจที่กำหนดไว้โดยมีกฎหมายรองรับ และจะต้องดำเนินพันธกิจให้บรรลุตามเป้าหมายที่องค์การได้กำหนดไว้ คือ เป้าหมายการจัดเก็บภาษีเงินได้ประจำปี เป็นต้น หรือพันธกิจที่อาจจะเป็นเป็นภาระรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น หรือเป็นภาระรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียขององค์การ (stakeholders) เช่น ในกรณีของบริษัทเอกชน