Management Cockpit Room มีลักษณะเป็นห้องประชุมเชิงปฏิบัติการที่มีการรายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญขององค์การผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ทันทีทุกเวลาให้แก่ผู้บริหารระดับสูงขององค์การได้รับทราบ เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจและวางแผนเชิงกลุยุทธ์
ในการนำ Management Cockpit Room มาใช้ในองค์การนั้น โดยทั่วไปรูปแบบของห้อง Management Cockpit Room จะเป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับการบริหาร (MIS) ขึ้นมาสำหรับผู้บริหาร โดยมีเจ้าหน้าที่ Cockpit Officer ทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลให้เป็นสารสนเทศแก่ผู้บริหารในการประชุม โดยที่ห้อง Management Cockpit Room ถูกออกแบบมา จะมีการนำเสนอใน 4 กระดานที่สำคัญ ได้แก่
1) กระดานสีดำ (Black Wall) จะเป็นการแสดงผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายขององค์การที่กำหนดไว้เป็นตัวชี้วัดใน 4 มิติ คือ มิติด้านการเงิน มิติด้านลูกค้า มิติด้านกระบวนการ และมิติด้านการเรียนรู้และการเติบโตตามกรอบของ Balanced Scorecard รวมถึงแสดงให้เห็นว่าขณะนี้ตัวชี้วัดที่สำคัญและวิกฤติขององค์การมีอยู่ในเรื่องใดบ้างที่จะต้อบแก้ไข
2) กระดานสีน้ำเงิน (Blue Wall) แสดงถึงข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรด้านต่างๆ ที่ต้องนำมาใช้ในกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ บุคลากร ระยะเวลาที่ใช้ในการทำงานในกระบวนการที่สามารถลดลงได้
3) กระดานสีแดง (Red Wall) แสดงผลการดำเนินงานทีเกี่ยวกับลูกค้า ตลาด คู่แข่งขัน และข้อมูลสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะแสดงให้เห็นถึงปัจจัยวิกฤติที่สำคัญ (critical success factors) ว่าองค์การจะต้องเอาชนะต่ออุปสรรคในปัจจัยสำคัญอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่องค์การได้กำหนดไว้
4) กระดานสีขาว (White Wall) แสดงถึงการตัดสินใจที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการตัดสินใจเดี๋ยวนี้หรือทันที โดยจะแสดงข้อมูลออกเกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมที่จะต้องทำ
อนึ่ง ในแต่ละกระดานจะหรือมุ่งตอบคำถามที่สำคัญที่สุด 6 ประการหรือ 6 มุมมองเพื่อให้การวิเคราะห์ทำได้ลึก และในแต่ละมุมมองก็จะทำการวิเคราะห์ลงไปใน 4 ระดับ (4 levels of visualization) คือ
ระดับที่ 1 แสดงผลการดำเนินงานหรือสถานภาพปัจจุบันออกออกมาในรูปของสัญญาณไฟจราจร (traffic light) ออกมาเป็นสีต่างๆ ได้แก่
● สีแดง หมายถึง การต้องกระตุ้นและแก้ไข (alert/action required) ● สีเหลือง หมายถึง การเตือนหรือการที่ต้องเฝ้าระวัง (caution/to be watched)
● สีเขียว หมายถึง การดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย
ระดับที่ 2 แสดงภาพให้เห็นถึงพื้นที่ที่ผลการดำเนินงานเป็นอยู่ในปัจจุบันว่าตกอยู่ในพื้นที่สีใดระหว่างสีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว
ระดับที่ 3 แสดงภาพออกมาในรูปของแนวโน้ม (trend curves) แผนภูมิฮิสโตแกรม (histograms) แผนภูมิแท่ง (bar charts)
ระดับที่ 4 แสดงรายละเอียดของข้อมูลที่ออกมาจากระดับที่ 3 ในรูปของตาราง เพื่อแสดงตัวเลขข้อมูลดิบที่เกิดขึ้น