องค์การเสมือนจริง (Virtual Organization)
เป็นองค์การที่เสมือนว่ามีการบริหารและดำเนินงานเพื่อผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ด้วยตนเอง แต่ด้วยข้อเท็จจริงแล้วกลับมอบให้องค์การอื่นๆ ดำเนินการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ แทนตนเอง โดยองค์การจะทำหน้าที่เพียงควบคุมคุณภาพเพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน โดยที่องค์การไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานย่อยภายในองค์การมาดำเนินการเลย เพราะงานต่างๆ ได้ใช้องค์การอื่นๆ ดำเนินการให้แทนทั้งหมด เพียงแต่มอบหน้าที่ให้แก่หน่วยงานย่อยภายในคอยกำกับดูแลด้านคุณภาพ เช่น มอบหมายให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล กำกับดูแลการให้บริการรถสวัสดิการที่ว่าจ้างจากบริษัทภายนอก เป็นต้น
กล่าวได้ว่าลักษณะขององค์การเสมือนจริงนี้จะเป็นที่นิยมใช้กันมากในภาคธุรกิจ เช่น บริษัท ไนกี้ (Nike) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจรองเท้ากีฬา ก็ได้ใช้แนวคิดองค์การเสมือนจริง โดยได้ว่าจ้างให้บริษัทท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ดำเนินการผลิตสินค้าตามรูปแบบและตราสินค้าที่บริษัทไนกี้กำหนด เป็นต้น ซึ่งในกรณีของการบริหารภาครัฐแล้ว องค์การเสมือนจริงมักจะอยู่ในรูปแบบการให้องค์การอื่นดำเนินการบริการแทนในรูปของสัญญาจ้างเหมา (contract-out) โดยที่องค์การของรัฐที่ดำเนินการว่าจ้าง จะทำหน้าที่เพียงควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น การจัดทำสัญญาจ้างเหมาให้มาดูแลรักษาความสะอาด การจัดทำสัญญาจ้างเหมาให้องค์การภายนอกมาดำเนินการรักษาความปลอดภัย การจัดทำสัญญาจ้างเหมาเอกชนมาให้บริการยานพาหนะ การจัดทำสัญญาจ้างเหมาเอกชนให้ซ่อมประปาให้แก่ลูกค้าในภูมิภาค เป็นต้น
การนำองค์การเสมือนจริงมาใช้ในการบริหารภาครัฐนั้น สะท้อนได้จากที่รัฐประศาสนศาสตร์ได้อิทธิพลทางความคิดมาจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์ต้นทุน-ธุรกรรม ที่มองว่าในกิจกรรมบางอย่างที่มิใช่เป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐแล้ว โดยถ้าภาครัฐดำเนินการเองแล้วจะมีต้นทุนในการดำเนินการที่สูงกว่าภาคเอกชน หรือมีประสิทธิภาพไม่เท่ากับให้เอกชนดำเนินการ ก็ควรให้เอกชนดำเนินการแทน