แนวคิดการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Best Practices)
ถ้าจะกล่าวถึงความหมายของคำว่าการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศหรือ Best Practices แล้ว กล่าวได้ว่าบริษัท XEROX Corporation ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ได้มีการนำแนวคิดของ Best Practices มาใช้ โดยได้ให้ความหมายของการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ หรือ Best Practices ว่า การปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ หมายถึง วิธีการที่ถูกใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์การทำงานที่ดีที่สุดในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
สำหรับในกรณีของภาครัฐก็ได้ให้ความสนใจต่อการนำแนวคิดการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศมาใช้เช่นกัน เช่นสถาบัน NGA Center for Best Practices ซึ่งเป็นสถาบันของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและบริการเพื่อสู่ความเป็นเลิศให้แก่ผู้ว่าการมลรัฐและทีมงานด้านนโยบาย โดยมีพันธกิจหลัก คือ พัฒนาและสร้างทางเลือกที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย โดยได้มีการพัฒนาเว็บไซท์ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางของการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ
กล่าวได้ว่า การนำแนวคิดของการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศหรือ Best Practices มาใช้กล่าวได้ว่า มิจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะในภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น ในส่วนของการบริหารภาครัฐก็เช่นกัน กล่าวได้ว่า เริ่มได้รับอิทธิพลทางความคิดของ เดวิด ออสบอร์น และ เทด แกรเบร้อ (David Osborne & Ted Gaebler) ที่กล่าวไว้ในหนังสือ Reinventing Government ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1992 โดยได้เสนอแนวคิดของ Reinventing Government โดยแนวคิดนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงกับได้รับการกล่าวถึงจากนักวิชาการหลายท่าน ได้แก่ Gabrielian, Holzer และ Nufrio ว่าเป็นพาราไดม์ที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในทางรัฐประศาสนศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะได้เสนอความคิดเกี่ยวกับต้องการให้ระบบราชการมีลักษณะของการแข่งขันการให้บริการสาธารณะ (a competitive government) รวมถึงต้องการให้ระบบราชการเป็นระบบที่ให้ความสำคัญต่อผลของการปฏิบัติงานมากกว่าสนใจถึงปัจจัยนำเข้าทางการบริหารงานและขั้นตอนการทำงานทั้งหลาย (a results-oriented government) ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นของแนวคิด Reinventing Government ดังกล่าวมีอิทธิพลทำให้ภาครัฐหันมาสนใจต่อแนวคิดการบริหารธุรกิจมากยิ่งขึ้นในระยะต่อมา ซึ่งได้พัฒนาต่อมาเป็นแนวคิดการจัดการนิยม (Managerialism) ที่ให้ความสำคัญกับการนำวิธีการบริหารงานแบบเอกชนและเทคนิคบริหารจัดการสมัยใหม่มาปรับใช้กับการบริหารงานในภาคราชการ โดยการมองว่าวิธีการบริหารงานย่อมเหมือนกัน(Business-like Approach) จะต่างกันก็ตรงที่วัตถุประสงค์เท่านั้น ซึ่งแนวคิดของการจัดการนิยมนี้ได้มาบูรณาการผสมผสานกับทฤษฎีทางเศรษศาสตร์ ได้ทำให้เกิดขึ้นมาเป็นแนวคิดการจัดการภาครัฐสมัยใหม่ (New Public Management) ที่ทาง รัฐประศาสนศาสตร์ถือว่าเป็นจุดสนใจ(focus) ที่สำคัญของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ในปัจจุบัน ทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลที่ทำให้รัฐประศาสนศาสตร์หันมาสนใจในเรื่องของการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศหรือ Best Practices มากยิ่งขึ้น
ปรากฏการณ์ที่การบริหารภาครัฐได้หันมาให้ความสำคัญต่อเรื่องของการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศมากยิ่งขึ้น(ซึ่งถือได้ว่าก่อกำเนิดมาจากภาคธุรกิจเอกชน) ดังปรากฎให้เห็นในประเทศต่างๆ กล่าวคือ ในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีแนวคิดของการพยายามที่จะนำ การปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศมาใช้ในเรื่องของการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ด้วยการกำหนดให้มีการให้บริการที่ดีเยี่ยม (Deliver Great Services) ที่เทียบกับการให้บริการของภาคเอกชน ซึ่งได้ถูกประกาศเป็นนโยบายสำคัญในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง โดยได้ออกเอกสารแถลงการณ์นโยบายการปฏิรูประบบราชการดังกล่าวเรียกว่า Blair House Papers มีหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ การให้บริการที่ดีเยี่ยม (Deliver Great Services) โดยเรียกร้องให้การให้บริการต่อลูกค้าของรัฐบาลกลางมีมาตรฐานเท่ากับการให้บริการที่ดีที่สุดของบริษัทในภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งผลการสำรวจความพอใจของลูกค้าต่อบริการสาธารณะ (Customer Satisfaction) มีการสำรวจโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่าดัชนีชี้วัดบริการลูกค้าชาวอเมริกัน (The American Customer Service Index (ACSI)) ผลปรากฎว่าความพึงพอใจของลูกค้าต่อการทำงานของหน่วยงานรัฐบาลกลางใน ค.ศ. 1999 ใกล้เคียงกับความพึงพอใจที่ประชาชนมีต่อบริการที่ได้รับจากบริษัทเอกชนในภาคธุรกิจเอกชน
ในกรณีของประเทศอังกฤษในการบริหารงานของระดับท้องถิ่นก็ได้มีการนำการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศมาใช้ภายใต้ปรัชญาที่เรียกว่า Best Value โดยมีการนำแนวคิดในเรื่อง Business Excellence Model, Balanced Scorecard และ Total Quality Management เพื่อให้องค์การปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ มุ่งไปสู่ความเป็นเลิศในการบริหาร